เป็นที่ทราบกันดีว่า ศาสตร์แห่งการออกกำลังกาย โยคะ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาตะวันออกที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ทั้งแผนโบราณและแผน ปัจจุบันว่า โยคะ ศาสตร์แห่งความสมดุล โยคะไม่ใช่ศาสตร์แห่งการบำบัด และไม่ใช่การบังคับกายให้ต้องทำในท่าที่ยากๆหรือต้องทำให้ได้เหมือนเกณฑ์ที่ ตั้งไว้ แต่โยคะคือการรวมกายกับใจของผู้ฝึกเข้าไว้ด้วยกัน หรือคือการมีสติอยู่กับกาย โยคะให้ความสำคัญยิ่งกับหลักแห่งความสมดุล การฝึกโยคะจึงเป็นการเหยียดแล้วคลายสลับกันไปจนจบการฝึก ศาสตร์ของโยคะมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาผู้ฝึกไปสู่ศักยภาพสูงสุดทั้งทางกาย และทางใจ พูดให้เข้าใจง่ายๆ โยคะคือการฝึกให้กายแข็งแรง พร้อมๆกับการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ดังนั้นหลักในการทำโยคะแต่ละท่าจะเป็นการทำให้กายและจิตนิ่ง สบาย แข็งแรง มีสติ ผ่อนคลายและสงบ อาจกล่าวได้ว่าในขณะฝึกอาสนะ (ท่าโยคะ) เรากำลังคืนสมดุลแห่งชีวิตให้กับตัวเราเอง อันคือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้หมอในร่างกายดูแลตัวเอง โดยเมื่อจิตสมดุล ร่างกายก็จะปรับตัวของมันได้เอง
ผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาผลทางกายพบว่า โยคะมีผลดีต่อการทำงานของต่อมไร้ท่ออย่างน้อย ๗ ต่อม คือ ต่อมพิทูอิตารี ต่อมไพเนียล ต่อมไธมัส ไทรอยด์ ตับอ่อน ต่อมหมวกไต และต่อมเพศ ให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งต่อมเหล่านี้จะมีผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ เช่น กระดูกสันหลัง ระบบไหลเวียนเลือด และต่อมน้ำเหลือง(ภูมิคุ้มกันโรค) ตลอดจนถึงระบบประสาทกล้ามเนื้อสัมพันธ์(Neuromuscular Coordination) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ฝึกโยคะต่อเนื่องยืนยันว่า ฝึกโยคะแล้วได้ประโยชน์ ทำให้นิสัยที่เคยขี้หงุดหงิด โกรธง่าย หรือเป็นหวัดบ่อยๆ หรือร้อนในมีแผลในปากเป็นประจำ อาการเหล่านี้หายไปจากชีวิตตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ และรู้สึกว่าทุกวันนี้มีความสุข วิธีคิดเปลี่ยนแปลงไป เปิดรับความคิดที่แตกต่างจากของตนได้ คนรอบข้างทักว่า ดูเป็นคนใหม่ที่ไม่เจ้าอารมณ์อย่างแต่ก่อน แสดงถึงความมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ดีขึ้น
เมื่อพูดถึงโยคะเรามักคิดถึงท่าแปลกๆ ที่มีชื่อเรียกจำยาก ทำแล้วบาดเจ็บง่าย แต่จากการเรียนรู้ครั้งนี้พบว่า โยคะมีเทคนิคที่น่าสนใจ เป็นเรื่องง่ายสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นการจัดอิริยาบถหรือออกกำลังทางกาย เพื่อเรียนรู้ตนเอง ยอมรับข้อจำกัดและความสามารถของตัวเรา ไม่ได้เน้นท่าสวยงาม แต่เน้นความรู้ตัวของแต่ละคนว่ากำลังทำอะไร อิริยาบถนี้มีผลต่ออวัยวะใด กล้ามเนื้อส่วนไหน การเคลื่อนไหวจะเป็นไปอย่างช้า แต่ต่อเนื่องกัน และที่สำคัญมีสติ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถ ขณะเอนกาย(ท่าศพ)หรืออิริยาบถอื่นๆขณะทำโยคะอาสนะ
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง อ.อากาศ มีการฝึกการหายใจโดยหน้าท้องและโดยทรวงอก โดยธรรมชาติการหายใจเป็นการทำงานทางกายที่ถูกควบคุมโดยระบบประสาทกึ่ง อัตโนมัติ จากการฝึกปราณยามะ (การหายใจแบบโยคะ) ทำให้ได้รู้ว่าเราสามารถควบคุมลมหายใจ เพื่อกำหนดความสมดุลของการผ่อนคลายและการตื่นตัวของอารมณ์และจิตใจได้ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญบอกอีกว่า โยคะเป็นการออกกำลังกายที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก เพราะเป็นการออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงโดยไม่ต้องใช้แรงมาก แต่กักเก็บพลังงานได้มากเข้ากับหลักเศรษฐศาสตร์กำไรขาดทุน(หรือประโยชน์สูง ประหยัดสุดของเรา) และโดยเฉพาะน่าจะเหมาะกับหนุ่มสาวออฟฟิศที่ทำงานกันคร่ำเคร่ง หนักเหนื่อย เพราะโยคะจะทำแก่น(แกนกลาง)ของ ร่างกายสมดุลแข็งแรง เหมาะที่จะไปทำงานหรือรับสถานการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
และในแง่กายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว ได้กล่าวถึง การยืดคลายกล้ามเนื้อว่า กล้ามเนื้อที่มีการหดตัวแบบข้อเกร็งอยู่กับที่จะมีกำลัง(พลังของตัวกล้าม เนื้อ) มากกว่าการหดตัวแบบข้อเคลื่อนที่ ซึ่งในช่วงที่เราทำอาสนะนั้นทุกท่าจะมีจุดที่นิ่ง เบา สบาย อยู่นานเหมือนกันตามสภาพของแต่ละบุคคล จึงเป็นคำอธิบายที่ดีว่า ทำไมการฝึกที่นิ่ง ไม่ต้องใช้แรงมากจึงได้พลังมาก
ขอบคุณข้อมูลจาก Absolute Yoga